เที่ยวลำปาง, สถานที่ท่องเที่ยวลำปาง, ท่องเที่ยวลำปาง,ทัวร์ลำปาง
จังหวัดลำปางเป็นแหล่งอารยธรรมล้านนาไทยที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่าจังหวัดใด ๆ ชาวลำปางมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย คงไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ เป็นเมืองที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเป็นของตนเอง วัดวาอารามและสถาปัตยกรรมท้องถิ่น รถม้าพาหนะคู่เมือง แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่คงความบริสุทธิ์สวยงาม เป็นแหล่งทำไม้ในอดีต ช้างที่เคยทำหน้าที่ลากซุงจึงเป็นสัตว์อีกอย่างหนึ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของเมือง เครื่องปั้นดินเผาที่ทำจากดินขาวขึ้นชื่อ สิ่งเหล่านี้ทำให้นครลำปางกลายเป็นจุดหมายที่นักเดินทางมักแวะมาเยี่ยมชม
ในอดีตเมืองลำปางมีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น ศรีดอนชัย ลัมภะกัมปะนคร เขลางค์นคร และกุกกุฏนคร (นครไก่) คำว่า “ลำปาง” นั้น หมายถึง ไม้ป้าง ตำนานเล่าว่าเป็นไม้ข้าวหลามที่ลัวะอ้ายกอนใช้หาบกระบอกน้ำผึ้ง มะพร้าว มะตูม มาถวายพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งเสด็จมายังบริเวณนี้ ก่อนจะปักไม้เอาทางปลายลงเกิดเป็นต้นขะจาวที่เห็นอยู่ข้างวิหารหลวง วัดพระธาตุลำปางหลวง ต้นขะจาวนี้มีลักษณะผิดแผกจากไม้อื่นด้วยกิ่งก้านชี้ลงดิน เป็นไม้มงคลประจำจังหวัดลำปางที่มีอายุกว่า 2,500 ปีล่วงมาแล้ว
คำว่า “เขลางค์นคร” เป็นภาษาบาลี ปรากฏอยู่ในตำนานตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 13 คำว่าลครซึ่งกลายมาจากนคร จึงเป็นชื่อสามัญที่ใช้เรียกเมืองเขลางค์ ทั้งยังปรากฏใช้ในศิลาจารึกและพงศาวดารในรุ่นต่อมา ส่วนภาษาพูดจะออกเสียงว่าละกอน มีความหมายเดียวกับคำว่าเมืองลคร หรือ “เวียงละกอน” นอกจากนี้บางตำนานยังเล่าว่าเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จออกโปรดสัตว์มาจนถึงเมืองนี้ พระอินทร์ได้ทราบก็เกรงว่าชาวเมืองจะตื่นไม่ทันทำบุญกับพระพุทธองค์ จึงแปลงกายเป็นไก่สีขาวขันปลุกชาวเมืองให้ตื่นทันออกมาทำบุญตักบาตร ด้วยเหตุนี้เมืองลำปางจึงได้ชื่อว่า “กุกกุฏนคร” อันหมายถึงเมืองไก่ขาว ไก่ขาวจึงเป็นสัญลักษณ์ของเมืองที่เราพบตามป้ายชื่อถนน บนสะพาน หรือตามตึกต่าง ๆ แม้แต่ในชามตราไก่ที่ขึ้นชื่อ หลักฐานทางโบราณคดีพบว่ามีชุมชนอาศัยอยู่ในพื้นที่ของนครลำปางมานานกว่า 3000 ปี ล่วงมาแล้ว จากการค้นพบภาพเขียนสี และโครงกระดูกมนุษย์โบราณ ตลอดจนชิ้นส่วนภาชนะดินเเผาในสมัยหริภุญไชย และชิ้นส่วนเครื่องถ้วยสันกำแพง
การเดินทาง ถ้าเริ่มจาก กรุงเทพ ฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 ถึง ก.ม. ที่ 52 ให้เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 32 ผ่านจังหวัด สิงห์บุรี ชัยนาท เข้าสู่ จ.นครสวรรค์ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1 ผ่าน จ.กำแพงเพชร ตาก ตรงเข้าสู่ จ .ลำปาง รวมระยะทางทั้งสิ้น 599 ก.ม. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 7 ช.ม หรือใช้เส้นทางสายใหม่ จากพิษณุโลก เข้า อ. เด่นชัย แล้วเดินทางมุ่งสู่ จ.ลำปาง

แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวและสิ่งที่น่าสนใจ
1. ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองลำปาง
ตั้งอยู่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดลำปาง ด้านตะวันตกเฉียงใต้ ทำด้วยม้าสัก สันนิฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อ 100 กว่าปีมาแล้ว โดยหลักที่หนึ่งสร้างเมื่อประมาณ พ.ศ.2400 หลักที่สอง พ.ศ.2416 และหลักที่สาม พ.ศ.2429 ต่อมาในปี พ.ศ. 2440 เมื่อสร้างศาลากลางขึ้นได้นำหลักเมืองมาไว้บริเวณศาลากลาง และสร้างมณฑปครอบหลักเมืองทั้งสาม ในปี พ.ศ.2511 โดยที่ทุกคนที่เดินทางสัญจรไปมา จะได้กราบไหว้ขอพร ขอให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ
2. วัดศรีชุม
เป็นวัดพม่าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ทั้งหมด 31 วัด สร้างในพ.ศ. 2433 โดยคหบดีพม่าชื่อ อูโย ซึ่งติดตามชาวอังกฤษเข้ามาทำงานป่าไม้ในประเทศไทย เมื่อตนเองมีฐานะดีขึ้นจึงต้องการทำบุญโดยการสร้างวัดศรีชุม จุดเด่นของวัดพม่าแห่งนี้คือพระวิหารซึ่งเป็นครึ่งปูนครึ่งไม้ มีศิลปะการตกแต่งแบบล้านนาและพม่า หลังคาเครื่องไม้ยอดแหลม และแกะสลักเป็นลวดลายสวยงามมาก แต่เป๋นที่น่าเสียดายว่าเกิดเหตุเพลิงไหม้พระวิหารขึ้นทั้งหลัง เมื่อตอนเช้าตรู่ของวันที่ 16 มกราคม 2535 คงเหลือไว้แต่เพียงไม้แกะสลักตรงซุ้มประตูทางขึ้นวิหารเป็นลวดลายพรรณพฤกษาฉลุโปร่ง ปัจจุบันวัดได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ และยังมีชิ้นส่วนเครื่องประดับอาคารที่ถูกไฟไหม้ไปจัดแสดงไว้ด้านหลังวิหาร
3. วัดป่าผาง หรือ วัดศาสนโชติการาม
สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยชาวพม่าที่มาประกอบอาชีพการป่าไม้ในจังหวัดลำปาง มีจุดเด่นที่พระเจดีย์ที่สีทองสุกปลั่ง บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่อันเชิญมาจากพม่าเมื่อประมาณ พ.ศ. 2449 วิหารเป็นเรือนไม้ทั้งหลังขนาดใหญ่ หลังคาซ้อนกันเป็นชั้น ๆ แบบพม่าและอุโบสถขนาดเล็กหลังคาเครื่องไม้แบบพม่า มีลวดลายเครือเถาปูนปั้นเหนือประตู ภายในประดิษฐานพระทับทิมพม่า วึ่งองค์ห่มจีวรประดับทับทิมสวยงาม ซึ่งหาดูได้ยากมาก วัดนี้พระสงฆ์พม่าจากเมืองมัฑะเลย์มักจะมาเป็นเจ้าอาวาสอยู่เสมอ
4.พิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย
ตั้งอยู่ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาลำปาง ถนนฉัตรไชย เป็นที่รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์ด้านการเงิน การธนาคาร อาคารพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ในอดีตเคยเป็นบริาัทสยามกัมมาจล ทุนจำกัด สาขาลำปาง สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้คัดเลือกให้อาคารแห่งนี้เป็นอาคารอนุรักษืดีเด่นประจำปี พ.ศ. 2540 ธนาคารไทยพาณิชย์จึงได้ปรับปรุงอาคารดังกล่าวเป็นพิพิธภัณฑ์ธนาคารไทยขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานอันเกื้อประโยชน์ในการเผยแพร่ความรู้ประวัติการก่อกำเนิดธนาคาร ชั้นล่างจัดแสดงสิ่งของต่าง ๆ ที่ใช้สำหรับธนาคารในยุคเริ่มก่อตั้ง อาทิเช่น สมุดบัญชีเงินฝาก เคาน์เตอร์ธนาคาร และเครื่องพิมพ์บัญชี ชั้นบนเป็นห้องพักของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช สมัยเป็นผู้จัดการสาขาแห่งนี้
5.วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม
เป็นวัดเก่าแก่ที่สวยงามอายุนับพันปี เคยเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) ตั้งแต่ .ศ.1979 เป็นเวลานานถึง 32 ปี เหตุที่วัดแห่งนี้ได้ชื่อว่าวัดพระแก้วดอนเต้า มีตำนานเล่าว่า พระมหาเถระแห่งวัดนี้ได้พบพระแก้มรกตในแตงโม (ภาษาเหนือหมากเต้า หมายถึงแตงโม) และนำมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูป ต่อมาจึงได้อันเชิญไปประดิษฐานที่วัดพระธาตุลำปางหลวง

6. วัดเจดีย์ซาวหลัง
คำว่า "ซาว" ในภาษาเหนือแปลว่า 20 คำว่าหลังนั้นคงใช้แทนคำลักษณะนาม ซึ่งแปลว่า "องค์" ฉะนั้นเจดีย์ซาวหลังจึงแปลได้ว่า วัดท่มีเจดีย์ 20 องคื หลังจากการขุดพบกรุพระเครื่องสมัยหริภุญไชยที่องค์พระเจดีย์ ทำให้สันนิษฐานได้ว่า วัดนี้สร้างมานานกว่า 1000 ปี เป็นศิลปะแบบล้านนาผสมพม่า เชื่อกันว่าหากใครนับได้ 20 องค์ จือว่าเป็นคนมีบุญ ตำนานเล่าว่า เมื่อ พ.ศ. 2526 ชาวบ้านได้ขุดพบพระพุทธรูปทองคำบริสุทธิ์หนัก 100 บาท สองสลึง แล้วนำมามอบให้แก่ทางวัด ซึ่งพระพุทธรูปองค์นี้ชื่อว่า "พระแสนแซ่ทองคำ" เป็นพระพุทธรูปมารวิชัยศิลปะสมัยล้านนา อายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 ขนาดกว้างหน้าตัก 9 นิ้วครึ่ง สูง 15 นิ้ว เป็นพระพุทธรูปทองคำองค์แรกที่ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุแห่งชาติ
7. วัดพระธาตุลำปางหลวง
เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของชาวลำปางมาแต่โบราร ตามตำนานกล่าวว่ามีมาตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวี ราวพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นวัดไม้ที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย งดงามด้วยสถาปัตยกรรมเก่าแก่มากมาย เป็นวัดของคนที่เกิดปีฉลู ด้วยเริ่มสร้างในปีฉลู และแล้วเสร็จในปีฉลูเช่นกัน มีซุ้มพระบาท สร้างครอบพระพุทธบาทไว้ ฐานก่อขึ้นเป็นชั้นคล้ายฐานเจดีย์ สร้างเมื่อ พ.ศ.1992 ภายในมองเห็นแสงหักเหปรากฏเป็นเงาพระธาตุ และพระวิหารในด้านมุมกลับกัน แต่มีข้อห้ามมิให้ผู้หญิงขึ้น
8. วัดพระธาตุจอมปิง
ตำนานกล่าวว่าสร้างขึ้นในสมัย พระเจ้าติโลกราช แห่งอาณาจักรล้านนาไทย วัดนี้มีความมหัสจรรย์ที่มีเงาสะท้อนภาพสีธรรมชาติขององค์พระธาตุผ่านรูเล็กบนนหน้าต่าง มาปรากฏบนพื้นภายในอุโบสถ ตลอดเวลาที่มีแสงสว่าง ทั้งกลางวันและกลางคืน อีกทั้งทางวัดยังจัดแสดงโบราณวัตถุต่าง ๆ ที่ขุดพบบริเวณนี้ด้วย

9. ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย และสวนป่าทุ่งเกวียน
อยู่ในความดูแลของ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป) ใน พ.ศ. 2512 ได้จัดสถานที่เลี้ยงและฝึกลูกช้าง หลังจากมีนโยบายปิดป่า ทำให้ช้างว่างงาน ศูนย์ฝึกช้างจึงได้เปลี่ยนมาเป็นสถานที่ดูแลช้างแก่และเจ็บป่วย ต่อมาในเดือนมกราคม พ.ศ. 2535 ออป. ได้ก่อตั้งศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยขึ้นที่ อ.ห้างฉัตร และจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ได้แก่ การแสดงช้าง ช้างแท็กซี่หรือการขี่ช้างชมธรรมชาติ
10. บ่อน้ำร้อนแจ้ซ้อน
เป็นแหล่งน้ำพุร้อนที่มีสภาพการเกิดตามธรณีวิทยา มีกลิ่นกำมะถันอ่อน ๆ จำนวน 9 บ่อ ตั้งอยู่รวมกันในพื้นที่อุทยาน ภายในพื้นที่มีโขดหินน้อยใหญ่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป และมีไอน้ำลอยกรุ่นขั้นมาจากบ่อปกคลุมรอบ ๆ บรอเวณ อุณหภูมิเฉลี่ยน 73 องศาเซลเซียส นักท่องเที่ยวบางท่านจะนำไข่นกกระทา หรือไข่ไก่ ที่มีขายในบริเวณบ่อน้ำร้อนมาแช่ ประมาณ 15 นาที ไข่แดงจะแข็งและมีรสชาติมันอร่อย ส่วนไข่ขาวจะเหลวคล้ายไข่เต่า

11. น้ำตกแจ้ซ้อน
เป็นน้ำตกที่เกิดจากลำน้ำแม่มอญ มีน้ำไหลตลอดทั้งปี มีแอ่งน้ำรองรับอยู่ตลอดสาย ไหลตกลงมาเป็นชั้น ๆ 6 ชั้น อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยาน 1 ก.ม. มีทางเดินสะดวกจากบ่อน้ำร้อนและน้ำตก
12. น้ำตกวังแก้ว
เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งหนึ่งในอุทยานแห่งชาติดอยหลวง ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของ จ.พะเยา เชียงราย และลำปาง สภาพเป็นภูเขาสูงทอดตัวในแนวเหนือและใต้ มีดอยหลวงเป็นยอดเขาที่สูงที่สุด ประกอบด้วยป่าเบญจพรรณ ป่าดิบชื้น และป่าเต็งรังปะปนกันไป มีสัตว์ป่าและนกนานาชนิด และเป็นน้ำตกที่สวยงามที่สุดในจังหวัดลำปาง มีชั้นน้ำตกประมาณ 102 ชั้น แต่เป็นชั้นใหญ่ประมาณ 7-8 ชั้นเมื่อขึ้นไปชั้นบนสุดของน้ำตกจะพบกับหมูบ้านชาวเขาเผ่าเย้าที่บ้านป่าคาหลวงและบ้านส้าน ซึ่งมีทางขึ้นค่อนข้างชัน
13. หล่มภูเขียว
มีลักษณะเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่อยู่บนภูเขา มีลักษณะคล้ายปล่องภูเขาไฟ น้ำในแอ่งลึกมากจนมองเห็นน้ำเป็นสีเขียวมรกต มีปลาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ไม่เป็นที่นิยมในการลงไปว่ายน้ำ เนื่องจากระดับความลึกที่มากจนเกินไป
14. ถ้ำพระเจดีย์
เป็นถ้ำหินปูนขนาดกลางภายในมีหินงอกรูปทรงคล้ายพระเจดีย์อยู่บนพื้น และรูปอ่างเก็บน้ำเป็นชั้น ๆ ประชาชนผู้พบเห็นจึงได้นำผ้าแพร สายสิญจน์และเครื่องสักการะบูชาตาตั้งถวาย หลังจากนั้นเหล่าราษฎร์จึงได้ช่วยกันบูรณะจนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว
